ประวัติจิวยี่

จิวยี่

 

จิวยี่ (อังกฤษ: Zhou Yu; จีน: 周瑜; พินอิน: Zhōu Yú; เวด-ไจลส์: Chou Yü) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ในยุคสามก๊ก แม่ทัพคนสำคัญของง่อก๊ก ขุนพลผู้ปราดเปรื่อง และเป็นคู่ปรับคนสำคัญของขงเบ้ง เป็นชาวเมืองลู่เจียนซู เกิดในครอบครัวขุนนางเก่า มีชื่อรองว่า กงจิน (公瑾) ลักษณะเป็นบุรุษรูปงาม หน้าขาว เมื่อวัยเด็กได้เรียนรู้วิชาอย่างแตกฉาน ทั้งการทหาร และศิลปะแขนงต่าง ๆ โดยจิวยี่เป็นผู้ชำนาญทางดนตรี กล่าวกันว่า ถ้าใครดีดพิณผิดแม้นิดเดียว ใครต่อใครจับไม่ได้ แต่จิวยี่สามารถจับได้ จิวยี่เป็นผู้มีนิสัยโอบอ้อม มีน้ำใจต่อเพื่อนฝูง ดังนี้ จึงมีผู้ที่เคารพนับถือเป็นมิตรสหายมากมาย

จิวยี่ คบหาเป็นเพื่อนกับซุนเซ็กมาแต่ยังเล็ก เมื่อซุนเซ็กสร้างเมืองกังตั๋งจนรุ่งเรือง จิวยี่มีส่วนในการสร้างความสำเร็จนั้นด้วย และทั้งคู่ก็มีสถานะเป็นคู่เขยกัน โดยที่ภรรยาของทั้งคู่ คือ นาง 2 เกี้ยวแห่งเมืองกังตั๋ง ภรรยาของซุนเซ็ก คือ ไต้เกี้ยวพี่สาวของเสียวเกี้ยวซึ่งเป็นภรรยาของจิวยี่ เมื่อซุนเซ็กสิ้นลง ได้ฝากฝังเมืองกังตั๋งและซุนกวน น้องชายไว้กับจิวยี่ด้วย มีความภักดีต่อตระกูลซุนมาก เพราะถือว่าตระกูลซุน มีบุญคุณต่อตน และครอบครัวมาตลอด เขารับใช้ตระกูลซุน ด้วยความซื่อสัตย์ และสามารถอย่างถึงที่สุด จิวยี่ได้รับตำแหน่ง เป็นแม่ทัพใหญ่แห่งง่อก๊ก เมื่ออายุได้เพียง 26 ปี

เมื่อขงเบ้ง มาอยู่ที่เมืองกังตั๋งเพื่อร่วมกันรับมือกับทัพวุยก๊กของโจโฉ แม้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกัน แต่จิวยี่ก็ไม่ไว้วางใจขงเบ้ง เพราะเกรงว่าขงเบ้งต่อไป จะเป็นภัยแก่ง่อก๊ก จึงหาทางกำจัดขงเบ้งอยู่เสมอๆ แต่ขงเบ้งก็ล่วงรู้ก่อน และทำลายแผนการเหล่านี้ ไว้ได้ทุกครั้ง สร้างความแค้นใจให้จิวยี่ยิ่งนัก

จิวยี่ สิ้นชีพเมื่ออายุได้เพียง 36 ปี ระหว่างยกทัพบุกเมืองลำกุ๋น ด้วยอาการโลหิตเป็นพิษจากลูกธนู ประกอบกับความแค้นใจที่มีต่อขงเบ้ง และขงเบ้งส่งจดหมายยั่วยุมา จึงกระอักเลือดตาย ก่อนสิ้น จิวยี่ได้รำพันออกมาว่า “เมื่อฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว เหตุไฉนถึงส่งขงเบ้งมาเกิดด้วย” ตามบันทึกประวัติศาสตร์จริงจิวยี่เสียชีวิตเพราะป่วยจากโรคระบาด ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตายด้วยความคับแค้นใจต่อขงเบ้งแต่อย่างไร ปัจจุบันสืบทราบแล้วว่าจิวยี่ตายเพราะโรคพยาธิชนิดหนึ่ง เรียกว่า เสว่ซีฉง (หนอนดูดเลือดคล้ายพยาธิปากขอ)

แสดงความเห็นได้ที่
Share Button
Previous post
ประวัติงำเต๊ก
Next post
ประวัติจิวท่าย

No Comment

Leave a reply