Homeสามก๊กหนังสือสามก๊กสามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์

สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์

หนังสือสามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์

ตีพิมพ์ครั้งแรก ปีพ.ศ.2408 น่าจะสูญหายหมดแล้ว เพราะอาจมีอยู่ในมือคนบางคนได้
ตีพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 7 ปีพ.ศ.2554 จำนวน 1,000 ชุด (จัดทำพิเศษ เพื่อถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ)

สามก๊กสำนวนเจ้าพระยาพระคลังหน ฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ เป็นสามก๊กฉบับแปลไทยฉบับแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ในประเทศไทย ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งได้จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2408

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ นักประวัติศาสตร์ผู้วิจัยเกี่ยวกับสามก๊กคนแรกในประเทศไทย ทรงค้นคว้าและวินิจฉัยไว้ว่า ก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์ บรรดาผู้มีศักดิ์ฐานะมักจะนิยมเก็บสะสมคัดลอกสามก๊กไว้ในห้องสมุดของตน ด้วยเหตุนี้จึงมีต้นฉบับหลายฉบับ ดังปรากฏในหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งมีทั้งฉบับที่เขียนด้วยเส้นหรดาน เส้นฝุ่นและเส้นดินสอ ต่อมาเมื่อหมอบรัดเลย์มีการตั้งโรงพิมพ์ที่ปากคลองบางใหญ่เพื่อพิมพ์หนังสืออกขาย ก็ได้ต้นฉบับเรื่องสามก๊กมา 2 ฉบับ และยืมจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มาทำการสอบกันก่อนลงมือพิมพ์ ทั้งฉบับ 4 เล่ม ขายฉบับละ 20 บาท รัชกาลที่ 4 ทรงรับช่วยซื้อจากหมอบรัดเลย์ราว 50 ฉบับ แล้วพระราชทานให้พระราชโอรสและพระราชธิดาละฉบับทั่วกัน ที่เหลือนั้นก็จะพระราชทานแก่ผู้อื่นทั่วไป สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้รับพระราชทานมา 1 ฉบับในช่วงที่เพิ่งเริ่มอ่านหนังสือได้ และเห็นสาเหตุให้ทรงชื่นชอบเรื่องสามก๊กมาก เพราะอ่านสนุก

ต่อมาโรงพิมพ์หมอสมิทมิชชันนารีเห็นว่าเรื่องสามก๊กขายดี จึงจัดพิมพ์บ้าง แต่พิมพ์ได้เพียงเล่ม 1 เล่มเดียวเท่านั้น ก็เกิดการขัดแย้งกันระหว่างการตีพิมพ์สามก๊กของทั้งสองโรงพิมพ์ ดังนั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองโรงพิมพ์ทำการพิมพ์หนังสือคนละประเภทกันเสียเลย นั่นคือมอบให้หมอบรัดเลย์พิมพ์ผลงานประเภทร้อยแก้ว ส่วนหมอสมิทพิมพ์ผลงานประเภทร้อยกรอง ภายหลังยังมีโรงพิมพ์อื่นๆพิมพ์ต่อมาด้วย แต่การพิมพ์ต่อๆกันมานั้นเป็นการอาศัยฉบับที่พิมพ์ก่อนหน้านี้เป็นต้นฉบับ และบางฉบับซ้ำมีผู้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำลงตามอำเภอใจ จึงมีความเป็นไปได้ว่าหนังสือสามก๊กที่มีจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดจะมีความคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับเดิมไม่น้อย

จากกรณีความขัดแย้งที่กล่าวมาของทั้งสองโรงพิมพ์ คือโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ และโรงพิมพ์หมอสมิท กับบทสรุปด้วยการรอมชอมและแยกกันตีพิมพ์ประเภทผลงานไปเลยนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า กรณีนี้ถือเป็นข้อพิพาทและปัญหาทางด้านการแย่งสิทธิ์การตีพิมพ์เรื่องสามก๊กฉบับแปลไทย เป็นครั้งแรกเท่าที่มีปรากฏในประวัติศาสตร์การพิมพ์ของไทย

สมเด็จกระพระยาดำรง ยังทรงวิเคราะหว่าความคลาดเคลื่อนในการแปลจากต้นฉบับดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ทำให้สามก๊กหลายฉบับที่มีการแปลสืบต่อมามีปัญหาไม่น้อย กระทั่งมีผู้สนใจศึกษาเรื่องสามก๊กจากต่างประเทศ เช่น M.Briwett Taylor ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำการแปลสามก๊กจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ได้ทำการวิจารณ์สามก๊กฉบับแปลภาษาไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า ฉบับแปลภาษาไทยมีความขาดตกบกพร่อง ไม่ครบตามต้นฉบับเดิมในภาษาจีน โวหารที่ใช้ก็แปลกๆ เช่นในภาษาจีนเดิมอธิบายว่าเป็นหน้าหนาวหิมะตก แต่ในฉบับภาษาไทยว่าเป็นหน้าแล้ง เป็นต้น ซึ่งทำให้ความหมายที่ต้องการสื่อออกมาแท้จริงนั้นผิดเพี้ยนไป เนื่องจากคำความหมายของหน้าหนาวหิมะตกกับหน้าแล้งนั้นเป็นตรงกันข้ามเลย

อีกทั้งเรื่องสำคัญในสำนวนการแปลสามก๊กฉบับนี้ก็คือ การเลือกใช้ภาษาจีนสำนวนฮกเกี้ยนในการแปล ซึ่งทำให้ชื่อตัวละครและสถานที่ในสามก๊กมีการอ่านและออกเสียงผิดแผกไปจากสามก๊กฉบับจีนของหลอก้วนจง ซึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ปัจจุบัน จะอ่านชื่อตัวละครและสถานที่ในสามก๊กด้วยภาษาจีนกลางเป็นหลัก

อิทธิพลของการแปลชื่อตัวละครและสถานที่ด้วยสำนวนฮกเกี้ยนของสามก๊กฉบับนี้ ส่งผลอย่างมากต่อสามก๊กที่ถูกแปลไทยทั้งหมดหลังจากนั้น และยังส่งผลให้คนไทยรู้จักชื่อตัวละครในสามก๊ก เป็นชื่อที่อ่านด้วยสำนวนฮกเกี้ยนอีกด้วย จุดสำคัญที่น่าสนใจคือ คนจีนส่วนใหญ่ที่เข้ามาอาศัยในเมืองไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยองค์รัชกาลที่ 1 นั้น เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แต่เหตุใดสามก๊กที่เจ้าพระยาพระคลังหนเป็นผู้อำนวยการแปล จึงใช้สำนวนฮกเกี้ยน แทนที่จะเป็นแต้จิ๋ว ซึ่งน่าจะเอื้อต่อชาวจีนส่วนใหญ่ในเมืองไทยมากกว่า ทั้งนี้อาจสันนิษฐานได้ว่า เพราะคณะคนจีนที่รับหน้าที่แปลสามก๊กให้เจ้าพระยาพระคลังหนในสมัยนั้นเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเรื่องนี้ย่อมน่าจะแสดงให้เห็นถึงการเข้าสู่ราชสำนักไทยของขุนนางและพ่อค้าจีนฮกเกี้ยนซึ่งเป็นชายฝั่งจีนใต้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้กำหนดรูปแบบการผลิตวัฒนธรรม หรืออีกทั้งอาจจะเป็นเพราะเป้าหมายในการแปลที่มุ่งเน้นให้คนไทยเองอ่าน ไม่ได้แปลมาสำหรับคนจีน ซึ่งถือว่าคนจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาในกรุงเทพฯยุคนั้นเป็นแรงงาน ซึ่งไม่ได้อ่านหนังสือเป็นกลุ่มหลักอยู่แล้ว

ในหนังสือ ตำนานหนังสือสามก๊ก ผลงานค้นคว้าชิ้นเอกของ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงอธบายไว้ถึงสำนวนการเรียกชื่อตัวละครและสถานที่ อันพอจะแสดงให้เห็นตัวอย่างได้ดังนี้
ราชอาณาเขตของพระเจ้าโจผี สำนวนจีนกลาง (ตามระบบ พินอิน) เรียก เว่ยกั๋ว จีนฮกเกี้ยนเรียก วุยก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียก งุ่ยก๊ก จีนกวางตุ้งเรียก ง่ายโกะ จีนไหหลำเรียก หงุ่ยก๊ก
ราชอาณาเขตของพระเจ้าเล่าปี่ สำนวนจีนกลางเรียก ซู่กั๋ว จีนฮกเกี้ยนเรียก จ๊กก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียก จ๊วกก๊ก จีนกวางตุ้งเรียก ซกโกะ จีนไหหลำเรียก ต๊กก๊ก
ราชอาณาเขตของพระเจ้าซุนกวน สำนวนจีนกลางเรียก หวูกั๋ว จีนฮกเกี้ยนเรียก ง่อก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียก โหง็วก๊ก จีนกวางตุ้งเรียก อื๋อโกะ จีนไหหลำเรียก โง่วก๊ก

ส่วนชื่อตัวละครนั้น
เล่าปี่ จีนกลางเรียก หลิวเป้ย จีนฮกเกี้ยนเรียก เล่าปี่ จีนแต้จิ๋วเรียก เล่าปี๋ จีนกวางตุ้งเรียก เหลาปี๋ จีนไหหลำเรียก ลิ่วปี
โจโฉ จีนกลางเรียก เฉาเชา จีนฮกเกี้ยนเรียก โจโฉ จีนแต้จิ๋วเรียก เช่าเฉา จีนกวางตุ้งเรียก โช่วเชา จีนไหหลำเรียก เซ่าเซ่า
ซุนกวน จีนกลางเรียก ซุนก๋วน จีนฮกเกี้ยนเรียก ซุนกวน จีนแต้จิ๋วเรียก ซึงขวน จีนกวางตุ้งเรียก ซุ่นคิ่น จีนไหหลำเรียก ตุนเขียน เป็นต้น
สำหรับปัญหาของสำนวนการแปลที่ยังส่งผลมาถึงปัจจุบันนั้น คาดว่าคงไม่อาจแก้ได้ เพราะชื่อตัวละครเช่น เล่าปี่ โจโฉ กวนอู ขงเบ้ง กลายเป็นความคุ้นเคยของคนไทยแล้ว ซึ่งทำให้หากคนไทยไปพูดเรื่องสามก๊กกับคนจีน อาจจะสื่อสารไม่เข้าใจกันก็เป็นได้ เพราะเราเรียกชื่อตัวละครและสถานที่ผิดกันโดยสิ้นเชิง

สามก๊กเจ้าพระยาพระคลังหนฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์จึงเป็นสามก๊กแปลไทยฉบับแรกที่มีการวางจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ ปีพ.ศ.2408 เป็นชุด 4 เล่มจบปัจจุบันต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกได้สาบสูญไปจากวงการหนังสือไทยแล้ว เหลือเพียงฉบับพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2427 เท่านั้น ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่กองวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ส่วนฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3-6 นั้น ก็แทบจะหาไม่ได้แล้ว ส่วนฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 6 นั้นคาดว่าถูกตีพิมพ์ก่อนปีพ.ศ.2471 เพราะสามก๊กที่มีการตีพิมพ์หลังจากนั้นจะเป็นฉบับราชบัณฑิตยสภานำมาชำระใหม่แล้ว

สามก๊กฉบับนี้ ปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 7 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช องค์รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ของ ดำเนินการโดยสมาคมเผยแผ่คุณธรรมเต๊กก่า จีจีนเกาะโดยอาศัยการถ่ายภาพจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ทีละหน้า เพื่อทำการตีพิมพ์ใหม่ ซึ่งฉบับนี้ยังสามารถหาซื้อได้ จากร้านจำหน่ายหนังสือของกองวรรณกรรมแ

ละประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร หรือติดต่อผ่านทางสมาคมฯ ในราคาชุดละ 2400 บาท

สรุปแล้ว คุณค่าของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน ฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์นี้ มิได้อยู่ที่ว่าแปลถูกต้องครบถ้วนตามฉบับภาษาจีนหรือไม่ อ.ถาวร สิกขโกศล อ.ผู้รู้ด้านภาษาจีนที่ลึกซึ้งได้อธิบายไว้ว่า คุณค่าของสามก๊กชุดนี้อยู่ที่การเรียบเรียงออกมาเป็นวรรณกรรมที่งดงาม เรื่องอ่านเข้าใจง่ายได้ความสนุกสนานและสติปัญญา บุคลิกตัวละครแม้จะค่อนข้างเป็นมิติเดียว แต่ก็มีบุคลิกชัดเจนประทับใจผู้อ่าน และจุดเด่นที่สุดอยู่ที่สำนวนแปลซึ่งยาขอบว่าเป็น “สำนวนที่จะยั่งยืนเหมือนเมฆ” ประโยคขึ้นต้นเรื่องของสามก๊กฉบับนี้ที่ว่า “เดิมแผ่นดินจีนทั้งปวงนั้น เป็นสุขมาช้านานแล้วก็เป็นศึก ครั้นศึกสงบแล้วก็เป็นสุข” นั้นแปลได้ทั้งอรรถและรสความงามของประโยคอย่างครบถ้วนเหมือนต้นฉบับภาษาจีน แต่เป็นการแปลเอา อรรถ และ รส ไม่ได้แปลให้ตรงตามคำในภาษาจีน คุณค่าด้านอื่นก็อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับฉบับภาษาจีน จึงนับเป็นการแปลวรรณคดีจากภาษาหนึ่งให้เป็นวรรณคดีในอีกภาษาหนึ่งได้ดีเยี่ยม เป็นหนังสือที่คนทั่วไปอ่านก็ชอบใจ ด้วยเหตุนี้ สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนนี้ จึงได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดความเรียงนิทาน ซึ่งหมายถึงเรียบเรียงดี ไม่ใช่แปลดี

ด้วยความดีเด่นของสามก๊ก จึงส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทยมาก ที่เด่นชัดที่สุดคือมีการแปลนิยายอิงพงศาวดารตามมาอีกนับหลายร้อยเรื่อง และเกิดมีผู้สนใจศึกษาเรื่องสามก๊กและเขียนหนังสือเกี่ยวกับสามก๊กขึ้นอีกจำนวนมากจนมาถึงปัจจุบัน

ขอบคุณบทความจาก อินทรีสามก๊ก แห่ง pantip.com

ขอบคุณรูปภาพจาก สามก๊กวิทยา

แสดงความเห็นได้ที่
Share Button
Previous post
กบฏโพกผ้าเหลือง 黄巾起义
Next post
สามก๊กเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

No Comment

Leave a reply