สามก๊กเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
สามก๊กเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับราชบัณฑิตยสภา
-ตีพิมพ์ครั้งแรก ปีพ.ศ.2471 ไม่ทราบจำนวนชุด
-ตีพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 25 กว่าขึ้นไป (ไม่สามารถระบุจำนวนการพิมพ์ซ้ำที่แน่ชัดได้) ครั้งล่าสุด ในปีพ.ศ.2554 ทั้งหมด 1,000 ชุด (โดยทำสำเนาโดยตรงจากต้นฉบับชุดแรก)
เนื่องจากสามก๊กเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ได้รับความนิยมมากและมีการตีพิมพ์ซ้ำตามมาอีกหลายครั้ง แต่ฉบับที่ตีพิมพ์ซ้ำครั้งหลังๆนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตรัสว่า นอกจากฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกๆแล้ว ฉบับหลังๆไม่ได้รับการพิสูจน์อักษรหรือตรวจสอบให้ดี จึงมีความคลาดเคลื่อน ลักลั่นไปมาก ดังนั้นในปีพ.ศ.2470 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งดำรงตำแหน่งนายกของราชบัณฑิตยสภาขณะนั้น จึงได้ดำเนินการนำสามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์มาตรวจชำระ โดยมีพระเจนจีน (สุดใจ ตัณฑากาศ) เป็นกำลังสำคัญในการตรวจสอบ สามก๊กฉบับนี้ได้รับการตรวจสอบกับฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ซึ่งเป็นฉบับที่พิมพ์ครั้งแรก จึงเป็นการทำให้เนื้อหาจากต้นฉบับแรกไม่เสียไปแล้วคงคุณค่าทางวรรณกรรมไว้
ทั้งนี้ สามก๊กฉบับชำระของราชบัณฑิตยสภานั้น ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2471 โดยโรงพิมพ์โสภณพิพัฒธนากร ซึ่งมีจุดเริ่มมาจากมาจากความตั้งใจในการชำระฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)โดยราชบัณฑิยสถาน ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ว่ามีจุดเริ่มมาจากสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรนิต ปรารภจะทรงพิมพ์สามก๊ก สำหรับประทานในงานพระสุเมรุของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมารศรี พระอัครราชเทวี สมเด็จพระชนนีของกรมพระนครสวรรค์ฯ ในต้น ปี พ.ศ.2471 ซึ่งท่านก็คือย่าทวดของ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ คนปัจจุบันนั่นเอง
ทางราชบัณฑิตยสภาได้มอบหมายให้มหาเสวกโทพระยาพจนปรีชา (ม.ร.ว.สำเริง อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา) เป็นบรรณาธิการ ดำเนินการตั้งแต่ชำระต้นฉบับ ตรวจฉบับพิมพ์ และให้รองอำมาตย์ตรี ขุนวรรณรักษณ์วิจิตร (เชย ชุมากร เปรียญ) เป็นผู้ช่วย ซึ่งหนังสือที่ใช้เป็นต้นฉบับชำระมีทั้งสิ้น 2 ฉบับ คือหนังสือสามก๊ก ฉบับคัดลอกเก่าของกรมหลวงวรเสรฐสุดา ซึ่งถูกยอมรับว่าเป็นฉบับที่เขียนได้สมบูรณ์ดีกว่าฉบับอื่นทั้งหมด และเพื่อความถูกต้องของเนื้อหา ยังมีการเพิ่มเติมด้วยการใช้ฉบับพิมพ์ภาษาจีนมาเปรียบเทียบและแปลตรวจสอบเพิ่มเติมเมื่อมีจุดที่สงสัย หรือกรณีที่ฉบับภาษาไทยมีจุดขัดแย้งกัน แต่เมื่อไม่อาจชี้ได้ว่าฉบับไหนถูกต้อง ก็จะยึดของฉบับของจีนเข้าช่วย
กระนั้น ด้วยความที่ต้นฉบับของสามก๊กเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ถูกแปลด้วยความยากลำบาก และขีดจำกัดทางด้านภาษาจีนของทีมงานแปลในสมัยนั้น อีกทั้งสามก๊กฉบับนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนและตัดทอนเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมไทยหรือ แนวคิด ความเชื่อของคนไทยออกเสีย เหตุเพราะจุดมุ่งหมายในการแปลฉบับแรกนั้นมีเรื่องของการเมืองแฝงนัยยะเข้ามาตามที่ได้อธิบายและอ้างอิงไว้ในหัวข้อที่ผ่านมา ทำให้การเปรียบเทียบและการชำระในการแปลใหม่ของราชบัณฑิตยสถานเอง ก็ไม่ได้เที่ยงตรงกับฉบับจีนเท่าใดนัก
นอกจากนี้ อ.ถาวร สิกขโกศล ได้อธิบายว่าสามก๊กต้นฉบับหลอก้วนจงซึ่งถือว่าเป็น “นิยายสามก๊ก” ที่แพร่หลายที่สุดในโลกนั้น ก็ไม่ใช่ต้นฉบับดั้งเดิมที่ทางเจ้าพระยาพระคลัง(หน)นำมาแปล แต่เป็นการเอาฉบับของสองพ่อลูกเหมาหลุน เหมาจงกัง ซึ่งเป็นฉบับที่นำเอาฉบับของหลอก้วนจงมาแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมอีกทอดหนึ่งแล้ว เหตุที่มีการสันนิษฐานเช่นนี้มาจากคำอธิบายว่า “ฉบับนิยายดั้งเดิมของหลอก้วนจงและฉบับแก้ไขเหมาจงกังนั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งเราใช้แปลเป็นฉบับแก้ไขแล้วของเหมาจงกัง เพราะที่จีนเองฉบับที่พิมพ์จำหน่ายส่วนมากเป็นฉบับนี้ ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงสามก๊กฉบับภาษาไทย ก็ต้องหมายถึงฉบับเหมาจงกังที่แก้ไขแล้ว”
สำหรับประวัติและลำดับการตีพิมพ์สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับราชบัณฑิตยสภาชำระ นับตั้งแต่เริ่มพิมพ์ครั้งแรก เท่าที่ค้นพบ มีดังนี้
พิมพ์ครั้งแรก – งานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พ.ศ.2471
พิมพ์ครั้งที่สอง –สำนักพิมพ์อุดม พ.ศ.2487
พิมพ์ครั้งที่สาม – องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2491
พิมพ์ครั้งที่สี่ – สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ พ.ศ.2498
พิมพ์ครั้งที่ห้า – สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.2506
พิมพ์ครั้งที่หก – สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.2506
พิมพ์ครั้งที่เจ็ด – สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พ.ศ.2508
พิมพ์ครั้งที่แปด – พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ใดไม่อาจทราบได้
พิมพ์ครั้งที่เก้า – งานพระราชทานเพลิงศพ นายจุลินทร์ ล่ำซำ พ.ศ.2509
พิมพ์ครั้งที่สิบ – สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา พ.ศ.2510
พิมพ์ครั้งที่สิบเอ็ด – สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พ.ศ.2510
พิมพ์ครั้งที่สิบสอง – สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.2511
พิมพ์ครั้งที่สิบสาม – สำนักพิมพ์บรรณาคาร พ.ศ.2512
พิมพ์ครั้งที่สิบสี่ – สำนักพิมพ์แพร่พิทยา พ.ศ.2513
พิมพ์ครั้งที่สิบห้า – สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น พ.ศ.2516
พิมพ์ครั้งที่สิบหก – สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.2518
พิมพ์ครั้งที่สิบเจ็ด – สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2536
พิมพ์ครั้งที่สิบแปด – สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2540
พิมพ์ครั้งที่สิบเก้า – พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ใดไม่อาจทราบได้
พิมพ์ครั้งที่ยี่สิบ – สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2543
พิมพ์ครั้งที่ยี่สิบเอ็ด – สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2543 – 2545
พิมพ์ครั้งที่ยี่สิบสอง – สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2545 – 2547
พิมพ์ครั้งที่ยี่สิบสาม – สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2547 – 2548
พิมพ์ครั้งที่ยี่สิบสี่ – สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.2548 – 2550
พิมพ์ครั้งที่ยี่สิบห้า – สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2554
เมื่อสามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ฉบับราชบัณฑิตยสภาได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2471 ก็ได้รับความนิยมอย่างมากและมีการตีพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาเกินกว่า 20 ครั้งขึ้นไป แต่เนื่องจากการพิมพ์ซ้ำแต่ละครั้งมักจะเกิดปัญหาคลาดเคลื่อนและผิดพลาด เนื่องจากฉบับที่ถูกตีพิมพ์ซ้ำแต่ละฉบับนั้นไม่ได้รับการตรวจทานหรือพิสูจน์อักษรที่ดีพอ ในขณะที่ฉบับที่ตีพิมพ์ซ้ำต่อมาก็จะอาศัยฉบับก่อนหน้าเป็นต้นฉบับ เมื่อยิ่งพิมพ์ซ้ำจึงยิ่งมีความผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
ในปีพ.ศ.2534 สำนักพิมพ์ดอกหญ้าร่วมกับหอพระสมุด จึงได้ขอทำการชำระสามก๊กฉบับราชบัณฑิตยสภาเสียใหม่ให้ตรงกับต้นฉบับครั้งแรก และตีพิมพ์ใหม่ ลดขนาดตัวอักษร แต่ก็ไม่ได้ตัดเนื้อหาส่วนใดออก จึงทำให้เหลือทั้งชุดเพียง 3 เล่ม และจัดทำเป็นชุดรวมกับหนังสือตำนานสามก๊กของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมอบให้แก่ห้องสมุด ซึ่งก็เป็นฉบับที่ยังคงสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ไว้ไม่ผิดเพี้ยน
การตีพิมพ์เรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ซ้ำมากเกินกว่า 20 ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความนิยมในเรื่องสามก๊กสำนวนนี้อย่างมาก และหากเราพูดถึงสามก๊กฉบับแปลไทยแปลไทยที่มีแพร่หลายในปัจจุบัน ตามความเข้าใจของคนทั่วไปและในรายงานฉบับนี้ย่อมหมายถึงสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ซึ่งผ่านการชำระแล้วเป็นหลัก ซึ่งสำนักพิมพ์แต่ละแห่งก็ได้มีการขออนุญาตทางกรมศิลปากรในการนำต้นฉบับสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตีพิมพ์ซ้ำออกมาเรื่อยๆ
ปัจจุบัน เพื่อการอนุรักษ์ต้นฉบับชุดแรกที่เริ่มตีพิมพ์ในปีพ.ศ.2471 เอาไว้ เป็นการสร้างคุณค่าทางด้านวรรณกรรมของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทำการสืบค้นและค้นคว้าศึกษา เข้าใจว่าบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด ได้เป็นผู้สนับสนุนให้มีการขอยืมต้นฉบับชุดแรกในปีพ.ศ.2408 มาจากกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร ทำการสำเนาโดยตรงและจัดพิมพ์ขึ้นในปีพ.ศ.2554 ทั้งสิ้น 1,000 ชุดเท่านั้น มอบให้ห้องสมุดแห่งชาติ 200 ชุด ให้ห้องสมุดโรงเรียนทั่วประเทศ 500 ชุด ส่วนที่เหลือเข้าใจว่าอีก 300 ชุด จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ
ขอบคุณบทความจาก อินทรีสามก๊ก แห่ง pantip.com
1 Comment
อยากได้ฉบับนี้จังเลยครับต้องหาซื้อที่ไหนหรอครับ