จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า
ภาพหินสลักเรื่องสามก๊ก วัดพิชยญาติการาม คลองสาน
# จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า 赵子龙救阿斗
แม้ภาพห้องที่ ๕ นี้จะชำรุดกะเทาะเสียหายไปหลายส่วน อย่างไรก็ตามองค์ประกอบสำคัญของภาพที่กลางภาพมิได้เสียหาย ทำให้เราสามารถตีความฉากสำคัญของภาพนี้ได้ โดยกลางภาพคือสะพานเตียงปันเกี้ยว (ฉางป่านเฉียว 长坂桥 ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองตังหยาง มณฑลหูเป่ย) ทหารที่ขี่ม้าหนีข้าศึก (โจโฉ) นับหมื่นอยู่ทางซ้ายคือจูล่ง หรือ จ้าวจื่อหลงซึ่งมีบุตรชายเล่าปี่คือ อาเต๊า (ต่อมาคือ พระเจ้าเล่าเสี้ยน กษัตริย์องค์ที่ ๒ ของจ๊กก๊ก) อยู่ในอกเสื้อ ทหารที่ตามมาคือคาดว่าเป็นบุนเพ่ง ทหารที่ยืนอยู่ทางขวามือคือ เตียวหุยร้องเรียกให้จูล่งรีบข้ามสะพานมา ทางด้านขวาถ้าสังเกตจะเห็นภาพคนรับใช้ถือพัดสองด้าม
ตอนนี้ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กล่าวไว้ว่า…
“…จูล่งก็ขับม้ารีบหนีไปถึงสะพานเตียงปันเกี้ยว พอได้ยินเสียงทหารโจโฉร้องตามมาข้างหลัง กำลังม้าแลกำลังจูล่งก็อ่อนลง พอแลเห็นเตียวหุยยืนอยู่ที่สะพานจึงร้องว่า
ครั้งนี้เหลือกำลังข้าพเจ้านัก ท่านช่วยข้าพเจ้าด้วย เตียวหุยจึงร้องว่า ท่านรีบข้ามสะพานไปเสียให้พ้นเถิด จข้าพเจ้าจะสู้เอง…”
วีรกรรมจูล่ง (ลุยเดียว) ฝ่าทัพ (นับหมื่นของโจโฉ) รับอาเต๊า ถือเป็นหนึ่งในฉากสำคัญที่แสดงถึงความกล้าหาญทรนงองอาจของแม่ทัพหนุ่มจากเสียงสาน (ฉางซาน) และเป็นฉากที่อยู่ในความทรงจำของนักอ่านสามก๊กดีที่สุดตอนหนึ่งเลยทีเดียว… (หลังจากที่จูล่งได้ข้ามสะพานไปแล้ว เตียวหุยก็ได้สร้างวีรกรรมอันลือลั่นครั้งสำคัญให้กับตัวเองในการลวงทัพโจโฉที่เนินเตียงปันโป๋ -ฉางป่านปัว 长坂坡 จนทัพหลวงโจโฉต้องล่าถอยกลับไป นับเป็นการปล่อยพยัคฆ์เข้าป่าโดยแท้เชียว)
รูปปั้นเครื่องเคลือบขนาด ๑.๕ เท่าของตัวจริงรูปจูล่ง ๑ ใน ๕ ทหารเสือแห่งจ๊กก๊ก ผู้สง่างามองอาจ และเป็นหนึ่งในตัวละครเอกที่แฟนสามก๊กชื่นชอบมากที่สุด ถ่ายจากบริเวณด้านหลังของศาลเจ้าหวู่โหวฉือ (ศาลเจ้านักรบแห่งแรกของขงเบ้ง) อยู่ในอำเภอเหมี่ยนเสี้ยน เมืองฮั่นจง (ฮันต๋ง) มณฑลส่านซี
ขอบคุณบทความและภาพที่อนุญาตนำมาเผยแพร่จากคุณ Pariwat Chanthorn
No Comment