Homeสามก๊กหนังสือสามก๊กสามก๊กฉบับวณิพก

สามก๊กฉบับวณิพก

สามก๊กฉบับวณิพก

สามก๊ก ฉบับวณิพก
ผู้แต่ง – ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์)
ลักษณะการเขียน – เล่าเรื่องราวตัวละครหลักสามก๊ก

สามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) เป็นสามก๊กฉบับที่นับว่ามีรูปแบบการเขียนที่แปลกประหลาดและพิสดารที่สุดฉบับแรกเท่าที่มีการตีพิมพ์ในเมืองไทย นั่นคืออาศัยการเล่าเรื่องราวและประวัติของตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก แต่จะไม่ใช่การเล่าประวัติธรรมดาทั่วไปที่จะเริ่มเล่าตั้งแต่เกิด สร้างวีรกรรมไปจนถึงตายเสมือนเล่าชีวประวัติหรือเป็นความเรียง แต่จะเป็นการเล่าในรูปแบบวณิพก

โชติ แพร่พันธุ์ หรือนักเขียนชื่อดัง นามปากกา “ยาขอบ” นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังสุดขีดจากการแต่งนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ สำหรับอีกผลงานหนึ่งซึ่งโด่งดังไม่แพ้กันก็คือการเขียนสามก๊กฉบับวณิพก เหตุผลที่ใช้ชื่อว่าฉบับวณิพกและเลือกเขียนในรูปแบบเหมือนนักเล่านิทานจีนสมัยโบราณข้างถนนที่เล่าเรื่องด้วยภาษาง่ายๆและเศษสตางค์นั้น ยาขอบ ได้เขียนถึงแรงบันดาลใจในเรื่องนี้ไว้ในบทเกริ่นนำของเรื่องขงเบ้ง ซึ่งเป็นเล่มแรกที่ได้รับการตีพิมพ์

ยาขอบเริ่มเขียนสามก๊กฉบับวณิพกเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.2484 โดยเริ่มจากการเขียนเรื่องของกวนอูเป็นคนแรก แต่เรื่องกวนอูของยาขอบนั้นเป็นลักษณะการเขียนแบบลองเชิง เพื่อลงหนังสือพิมพ์ประชาชาติ จึงยังไม่ได้มีเนื้อหามากมายนัก จากนั้นจึงเขียนเรื่องของตัวละครอื่นๆต่อมาเป็น 18 ตัวละคร และเชื่อกันว่าหากยาขอบไม่เสียชีวิตไปก่อน เขาน่าจะเขียนเรื่องของสุมาอี้ได้จบและเป็นตัวละครตัวที่ 19 ได้แน่ หลังจากนั้น สำนักพิมพ์คลังวิทยาได้จัดพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปีพ.ศ.2529 ต่อมาสำนักพิมพ์ดอกหญ้าต้องการจะเก็บรักษาผลงานวรรณกรรมโบราณของยาขอบเอาไว้ จึงได้เริ่มจัดพิมพ์รวมเล่มในปีพ.ศ.2530  เป็นการจัดพิมพ์ในรูปแบบพ็อคเก็ตบุ๊คส์ ตีพิมพ์แยกเป็นเล่ม 6 เล่ม โดยเรียงลำดับการพิมพ์ออกมาดังนี้

เล่ม 1 ได้แก่ ขงเบ้ง – ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร
เล่ม 2 ได้แก่ จิวยี่ – ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า
เล่ม 3 ได้แก่ โจโฉ – ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ (ผนวกกับตัวย่อยคือ เอียวสิ้ว – ผู้คอขาดเพราะขาไก่ และยี่เอ๋ง – ผู้เปลือยกายตีกลอง)
เล่ม 4 ได้แก่ เล่าปี่ – ผู้พนมมือให้แก่ทุกชนชั้น
เล่ม 5 ได้แก่ ตั๋งโต๊ะ – ผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ (ผนวกด้วยตัวย่อย ลิโป้ – อัศวินหัวสิงห์ ,เตียนอุย – ผู้ถือศพเป็นอาวุธ ,โจสิด – ผู้ร่ายโศลกเอาชีวิตรอด ,และ ลกเจ๊ก – ท่านนี้หรือชื่อลกเจ๊ก)
เล่ม 6 ได้แก่ จูล่ง – สุภาพบุรุษจากเสียงสาน (ผนวกด้วยตัวย่อย กวนอู – เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ ,เตียวหุย – คนชั่วช้าที่น่ารัก ,สุมาเต๊กโช – ผู้ชาญอาโปกสิณ ,ชีซี – ผู้เผ่นผงาดเสมอเมฆ , และม้าเฉียว – ทายาทแห่งเสเหลียง)

ในการเขียนถึงตัวละครหลัก ยาขอบได้เขียนอุทิศแด่ผู้มีอุปการคุณไว้ในคำนำประจำเรื่อง เท่าที่ปรากฏมี 6 เรื่องด้วยกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจบางอย่างในการเขียนถึงตัวละครหลักแต่ละตัวของเขา เท่าที่ปรากฏก็ได้แก่

เรื่องแรก กวนอู เขียนอุทิศให้ นายถนิม เลาหะ วิไลย ครูประจำชั้นเรียนชั้นสุดท้ายในโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์
เรื่องที่สอง ขงเบ้ง เขียนอุทิศให้ นายเทียน เหลียวรักวงศ์ เพื่อนผู้เสมือนพ่อ
เรื่องที่สาม จิวยี่ เขียนอุทิศให้แด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งวงการโบราณคดี
เรื่องที่สี่ ตั๋งโต๊ะ เขียนอุทิศให้ พ.ต.อ.พระบริหารนครินทร์ (เติม จารกุล) ผู้เป็นที่พึ่งใบบุญตอนยังเยาว์
เรื่องที่ห้า เล่าปี่ เขียนอุทิศให้เจ้าพระยาพระคลังหน บิดาแห่งสามก๊กฉบับภาษาไทย
เรื่องที่หก จูล่ง เขียนอุทิศให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร สหายเชื้อพระวงศ์ที่คอยช่วยเกื้อกูลยาขอบตอนตกยาก

กลวิธีการเขียนและเล่านั้น ยาขอบใช้วิธีการเล่าเรื่องสามก๊กผ่านตัวละครทั้งหมด 18 ตัว ซึ่งแม้จะเป็นตัวละครตัวที่ไม่ได้มีบทบาทเด่นมากหรือเป็นตัวละครหลักในสามก๊ก ยาขอบก็ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องอันเป็นความสามารถเฉพาะตัวทำให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจได้ เช่นเรื่องราวของ ยี่เอ๋ง เอียวสิ้ว ลกเจ๊ก เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้นักอ่านคนไทยเริ่มรู้จักตัวละครบทน้อยเหล่านี้มากขึ้น

เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ยาขอบได้สร้างไว้ให้นักอ่านสามก๊กในประเทศไทยนั่นคือการตั้งฉายาให้แก่ตัวละครในสามก๊ก  โดยยาขอบได้ตั้งชื่อตอนไว้ให้แก่ตัวละครแต่ละตัว และได้กลายมาเป็นฉายาและเอกลักษณ์ของตัวละครนั้นๆ ทำให้คนอ่านสามก๊กในประเทศไทยจดจำเป็นเอกลักษณ์ไปในที่สุด

ข้อดีเด่นของสามก๊กฉบับวณิพกคือ ใช้การเล่าเรื่องเหมือนวณิพกสมัยก่อน ที่มีลักษณะการเล่าคือใช้การจุดตะเกียงปูเสื่อเล่าเรื่องราวเพื่อแลกกับเศษสตางค์ประทังชีวิต ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องแบบข้างถนน ใช้ภาษาง่ายๆแบบชาวบ้าน ทำให้ผู้อ่านสามารถรู้สึกเพลิดเพลินและเป็นกันเอง ช่วยลดการสับสนจากการอ่านสามก๊กฉบับมาตรฐานให้แก่ผู้เริ่มอ่านได้ อีกทั้งยาขอบยังพยายามที่จะสืบค้นและค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาด้านการแปลที่ผิดเพี้ยนของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน และพยายามอธิบายแทรกไว้ถึงสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างสามก๊กฉบับภาษาไทยและจากฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งยาขอบแปลความจากสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของ Briwett Taylor โดยยาขอบก็ยังเชิดชูและยกย่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหนในแง่วรรณกรรมไทยที่มีจุดเด่นคือสำนวนอันเป็นอมตะของเจ้าพระยาพระคลังหน

แต่ปัญหาหลักของสามก๊กฉบับนี้คือ ยาขอบแปลความจากฉบับภาษาอังกฤษของ Briwett Taylor แบบตรงตัว ไม่ได้แปลตามระบบ Wade ในการออกเสียงแบบที่ Briwett Taylor ใช้ จึงทำให้สับสนในการอ่านออกเสียงชื่อตัวละครหรือสถานที่ได้ เช่น ชื่อรองของโจโฉ ซึ่งหากอ่านออกเสียงด้วยระบบ Wade จะอ่านเป็น เมิ่งเต๋อ (Meng Te) ยาขอบก็ออกเสียงเป็น เม้งเต้ เป็นต้น

นอกจากนั้นก็มีข้อผิดพลาดเรื่องข้อมูลเล็กๆน้อยๆอยู่บ้าง แต่ความเด่นดังของสามก๊กฉบับวณิพกนี้ในแง่การเล่าเรื่องราวได้อย่างมีสีสันน่าสนใจก็สามารถกลบจุดด้อยเหล่านั้นได้ และก็ถือเป็นสามก๊กฉบับแรกๆที่มีการเขียนในเชิงเล่าเรื่องตัวละครด้วยภาษาที่ทำให้เข้าใจง่าย และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเล่าเรื่องสามก๊กในลักษณะนี้ตามมาอีกหลายฉบับด้วยกัน

สามก๊กฉบับวณิพกนี้ได้รับความนิยมมากและตีพิมพ์ซ้ำถึง 13 ครั้ง ครั้งสุดท้ายที่จัดพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คส์คือในปีพ.ศ.2537 ต่อมารูปแบบการพิมพ์หนังสือเริ่มนิยมพิมพ์เป็นเล่มยก 16 ดังนั้นทางสำนักพิมพ์ดอกหญ้าจึงคิดจะทำเป็นรูปแบบเล่มยก 16 บ้าง และจัดพิมพ์ด้วยรูปแบบนี้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2537 ปีเดียวกัน โดยแบ่งพิมพ์เป็น 3 เล่ม  ต่อมาในปีพ.ศ.2551 สำนักพิมพ์แสงดาว ต้องการจะจัดทำสามก๊กฉบับวณิพกขึ้นใหม่เพื่อเป็นการฉลองครบรอบชาตกาล 100 ปี ของยาขอบ จึงนำสามก๊กฉบับวณิพกทั้งหมดมารวบรวมจัดทำเป็นชุดละ 2 เล่ม หนังสือปกแข็ง ในราคา 650 บาท

สามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบ ถือเป็นสามก๊กฉบับแรกๆที่ใช้การเขียนเล่าถึงตัวละครในสามก๊กแบบการเล่าเรื่องราว ด้วยภาษาง่ายๆ และเล่าเจาะไปทั้งเรื่องราวชีวิต ยาขอบยังมีการเขียนชื่อตัวละครทั้งชื่อจริงชื่อรอง และบอกชื่อจีนกลางประกอบ แตกต่างไปจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน อีกทั้งสามก๊กฉบับวณิพกยังนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เกิดการเขียนในเชิงเล่าเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวแยกเป็นเล่มหรือเจาะลึกลงไป ซึ่งปัจจุบันเราจะสามารถหาพบสามก๊กที่เขียนในลักษณะนี้ได้มากและยังมีการเขียนหรือตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณบทความจาก อินทรีสามก๊ก แห่ง pantip.com

แสดงความเห็นได้ที่
Share Button
Previous post
สามก๊กฉบับสมบูรณ์
Next post
สามก๊กฉบับบริหาร

2 Comments

Leave a reply