Homeสามก๊กตามรอยสามก๊กในจีนสมรภูมิรบสุดท้ายของขงเบ้ง

สมรภูมิรบสุดท้ายของขงเบ้ง

เนินทุ่งอู่จั้งหยวน 五丈原 คือสมรภูมิรบครั้งสุดท้ายของท่านขงเบ้งในการนำทัพจ๊กก๊ก เพื่อหมายมุ่งกอบกู้ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น ขงเบ้งมิอาจฝืนโชคชะตาฟ้าลิขิต แม้ลมกลางฤดูใบไม้ร่วงของอู่จั้งหยวน – ชิวเฟิงอู่จั้งหยวน 秋风五丈原 จะได้ดับตะเกียงโคม พร้อมฉุดวิญญาณของท่านให้จากไปนิรันดร์ แต่ชื่อเสียงและคุณงามความดีของท่าน ยังคงตราตรึงจารึกอยู่ในดวงใจของชาวจีนและชาวโลกชั่วกาลนาน

อู่จั้งหยวน1

 

ประตูทางเข้าสู่ศาลเจ้านักรบ (หวู่โหวฉือ) ของขงเบ้ง ที่อู่จั้งหยวน อันเป็น ๑ ใน ๗ ศาลเจ้านักรบของขงเบ้งทั่วแผ่นดินจีน
อู่จั้งหยวน หมายถึง เนินห้าจั้ง เรียกกร่อนมาจากคำว่า “สืออู่จั้งหยวน” หรือ เนินสิบห้าจั้ง มีความสูง ร้อยห้าสิบฟุต (หนึ่งจั้งเท่ากับสิบฟุตโดยประมาณ)
สถานที่แห่งนี้ คือ สมรภูมิรบครั้งสุดท้ายของขงเบ้งกับสุมาอี้ ที่ชาวจีนรู้จักกันดีในนาม “ชิวเฟิงอู่จั้งหยวน” หรือ “ลมใบไม้ร่วง ณ อู่จั้งหยวน”

 

อู่จั้งหยวน2

ป้ายเหนือประตูทางเข้าตัวศาลเจ้านักรบ มีตัวอักษรเขียนว่า ยอดนักรบลือนามนิรันดร์กาล
อู่จั้งหยวน ตั้งอยู่ในอำเภอฉีซาน เมืองเป่าจี มณฑลส่านซี อยู่ห่างจากนครซีอานมาทางตะวันตกประมาณ ๑๕๐ กม. เป็นหนึ่งในศาลเจ้านักรบของขงเบ้งที่มีผู้มาถึงน้อยที่สุด (แม้กระทั่งชาวจีนเองก็ตามที) แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งมากที่สุดและแฟนสามก๊กรู้จักเหตุการณ์ในตอนนี้มากที่สุดตอนหนึ่ง ในช่วงชีวิตของมหาอุปราชผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทรอันเกรียงไกรท่านนี้

 

อู่จั้งหยวน3

เพราะสถานที่แห่งนี้ เป็นที่อยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของขงเบ้ง ในคราวออกศึกกิสานครั้งที่ ๖ ขงเบ้งนำทัพจ๊กก๊กยาตรามาทางตะวันออกใกล้ถึงเตียงอั๋นมากที่สุด
ภาพนี้คือภายในศาลเจ้าขงเบ้ง มีรูปทหารเอกสี่คนที่ยืนอยู่เคียงข้างรูปเคารพขงเบ้ง คือ กวนหิน อองเป๋ง เตียวเปา และเลียวฮัว สี่ทหารเอกคู่ใจขงเบ้งในช่วงท้าย

 

อู่จั้งหยวน4

ภาพวาดเนินอู่จั้ง ริมฝั่งแม่น้ำฮุยโฮ (เว่ยเหอ) จะเห็นว่า ขงเบ้งเลือกชัยภูมิที่ได้เปรียบคู่ต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง โดยตั้งอยู่บนเนินสูง ๑๕๐ ฟุต สามารถสังเกตเห็นทัพของสุมาอี้ที่ยกมาจากเตียงอั๋น มาตั้งอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำได้อย่างชัดเจนยิ่ง

 

อู่จั้งหยวน5

สุสานฝังหมวกและชุดของขงเบ้งที่ถูกฝังอยู่ภายในศาลเจ้านักรบแห่งนี้ ส่วนร่างที่สิ้นลมของขงเบ้งถูกนำไปฝังไว้ที่ด่านเตงกุนสัน เมืองฮันต๋ง ตามคำสั่งเสียของท่าน สุสานแห่งนี้ จึงเป็น ๑ ใน ๒ สุสานของขงเบ้ง

รูปปั้นขงเบ้ง

รูปปั้นขงเบ้งถือพัดขนนกอันองอาจภายในหอนิทรรศการด้านหลังศาลนักรบ

 

ศาลอุยสี

ด้านหลังของศาลเจ้านักรบ มีศาลของหวงเยว่อิง ภรรยาของขงเบ้ง (หรือนางอุยสี ในสามก๊ก) ผู้ลือเลื่องว่ามีความรู้ความสามารถในหลายด้าน ได้ไปเยือนศาลเจ้าขงเบ้งมาหลายแห่ง เพิ่งจะได้พบศาลของภรรยาขงเบ้ง ณ ศาลแห่งนี้

 

ทางเข้าสู่ปากว้าเจิ้น

ทางเข้าสู่ปากว้าเจิ้น หรือ ค่ายกลพยุหะแปดทิศ หนึ่งในผลงานอันขึ้นชื่อของขงเบ้ง ที่สร้างจำลองขึ้นด้านข้างตัวศาล

 

ค่ายกลพยุหะแปดทิศ

กระบวนพยุหะ “ปาเจิ้นถู” หรือ “ปากว้าเจิ้น” ขงเบ้งจับขุนศึกสุมาอี้ได้สามนาย คือ ไต้เหลง 戴陵 เตียวฮอง 张虎 เเละงักหลิม 乐綝 เเล้วเขียนทาหน้าประจานเเล้วปล่อยตัวกลับไป

รูปปั้นม้าต้าย

รูปปั้นหม่าไต้ (ม้าต้าย) หนึ่งในทหารเอกที่ขงเบ้งไว้วางใจมากที่สุด หน้าทางประตูทางเข้าศาล

 

จวีกงจิ่นเชว่ย

ลายเส้นอักษร “จวีกงจิ่นเชว่ย” อุดมการณ์อันสูงส่งของขงเบ้ง ที่ชาวจีนต่างเทิดทูน หมายถึง “จะทุ่มเทสติปัญญาและกำลัง จนมิคิดถึงชีวาและอาสัญ” นับตั้งแต่ขงเบ้งลงจากเขาโงลังกั๋ง (หลงจง) จนมาสิ้นลม ณ อู่จั้งหยวนแห่งนี้ เป็นระยะเวลา ๒๘ ปีในสองรัชกาล (เล่าปี่และเล่าเสี้ยน) ขงเบ้งได้ทำตามอุดมการณ์นี้อย่างน่ายกย่อง ดังที่ทุกท่านได้อ่านได้ชมในเรื่องสามก๊กนั้นแล

 

ในวันที่ ๘ ตุลาคม* จะเป็นวันครบรอบ ๑,๗๘๑ ปี ที่ “ผู้หยั่งรู้ดินฟ้าอากาศ” มังกรซ่อนกาย-ขงเบ้งแห่งจ๊กก๊ก ได้สิ้นบุญกลางสนามรบ ในขณะกำลังติดพันการศึกใหญ่กับสุมาอี้-แม่ทัพของวุยก๊ก ในห้วงยามที่ยกทัพมาได้ไกลที่สุด ใกล้ถึงความหวังในการรวมแผ่นดินฮั่นมากที่สุด

(*ตามประวัติเดิมของท่านขงเบ้ง ระบุว่าท่านถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ปีค.ศ.๒๓๔ ตรงกับปีที่ ๑๒ ของรัชศกเจี้ยนซิ่ง (พระเจ้าเล่าเสี้ยน) ภายหลังได้มีการตรวจชำระประวัติศาสตร์ใหม่ พบว่าท่านขงเบ้งสิ้นบุญในวันที่ ๘ ตุลาคมของปีเดียวกัน)

อู่จั้งหยวนอู่โหวฉือ 五丈原武侯祠 เป็น ๑ ใน ๘ ของศาลเจ้านักรบบูชาขงเบ้งทั่วแผ่นดินจีน อู่จั้งหยวน หมายถึง เนินเจ็ดจั้ง เรียกกร่อนมาจากคำว่า “สืออู่จั้งหยวน” หรือ “เนินสิบห้าจั้ง” มีความสูง “ร้อยห้าสิบฟุต” (หนึ่งจ้างเท่ากับสิบฟุตโดยประมาณ) ตั้งอยู่ในเขตอำเภอฉีซาน 祁山 เมืองเป่าจี 宝鸡 มณฑลส่านซี อยู่ห่างจากนครซีอานมาทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๕๐ กม. เป็นหนึ่งในศาลเจ้านักรบของขงเบ้งที่มีผู้มาถึงน้อยที่สุด (แม้กระทั่งชาวจีนเองก็ตาม) แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งมากที่สุดและแฟนสามก๊กรู้จักเหตุการณ์ในตอนนี้มากที่สุดตอนหนึ่ง ในช่วงชีวิตของมหาอุปราชผู้หยั่งรู้ฟ้าดินอันเกรียงไกรท่านนี้

เพราะสถานที่แห่งนี้ เป็นที่อยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของท่านขงเบ้ง ในคราวออกศึกกิสานครั้งที่ ๖ ขงเบ้งนำทัพจ๊กก๊กยาตรามาทางตะวันออกใกล้ถึงเตียงอั๋น (ฉางอาน) มากที่สุด ขงเบ้งเลือกชัยภูมิที่ได้เปรียบคู่ต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง โดยตั้งอยู่บนเนินสูง ๑๕๐ ฟุต กลางผืนที่ราบกวนตง (ตามภาพแผนที่) สามารถสังเกตเห็นทัพของข้าศึกที่ยกมาจากเตียงอั๋น มาตั้งอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำวุยโห โดยทัพวุยก๊กตั้งอยู่ทางตอนใต้ตั้งทัพประชิดกันสองฝั่งน้ำนานหนึ่งร้อยกว่าวัน

เมื่อมองจากที่สูงลงมาเนินอู่จั้ง จะเห็นเป็นรูปลักษณ์สัณฐานคล้ายพิณผีผา เหนือกว้างใต้แคบ เหนือติดแม่น้ำวุยโห ใต้อิงเทือกเขาฉินหลิ่ง มีช่องทางถอยทัพกลับได้โดยสะดวก ด้านตะวันออกและตกเป็นหน้าผาชัน ยากแก่การเข้าถึง เมื่อแลไปทางตะวันออก จะเห็นไปได้ไกล เพราะเป็นผืนที่ราบกวนตงอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทัพวุยก๊กจะยกมาจากทางด้านนั้น จึงนับเป็นชัยภูมิชั้นยอดสำหรับการตั้งทัพที่ขงเบ้งได้เลือกสรรไว้แล้วโดยแท้จริง

**************************

ศาลแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยต้นราชวงศ์ถัง ผ่านการบูรณะมา ๙ ครั้งในหลายราชวงศ์ เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าศาล สองข้างประตูด้านในมีรูปปั้นของอุยเอี๋ยนและม้าต้ายสองทหารเอกของจ๊กก๊ก (ม้าต้ายเป็นผู้สังหารอุยเอี๋ยน หลังสิ้นบุญขงเบ้งไม่นาน ทำให้ผมอดตั้งคำถามมิได้ว่า ทำไมจึงนำมาตั้งเป็นทวารบาลคู่อยู่เช่นนี้?) ด้านหน้าเป็นศาลเจ้าขงเบ้ง ตัวศาลชั้นในพร้อมด้วยสุสานด้านหลัง สร้างขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยสามก๊ก นับเป็นสิ่งปลูกสร้างสองหลังแรกที่สร้างขึ้นก่อนส่วนอื่น ๆ

เหนือประตูทางเข้าศาลมีอักษรจีนสี่ตัว เขียนว่า “อิงหมิงเชียนกู่ 英名千古วีรชนลือนามตลอดกาล” สองข้างมีตุ้ยเหลียน (คำกลอนคู่) สรรเสริญขงเบ้งอันมีชื่อเสียงของศาลแห่งนี้ ประพันธ์โดยอดีตแม่ทัพเฝิงอี้เสียง 冯玉祥หนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สดุดีขงเบ้งเป็นความว่า

“ ยอดคนผู้สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ทุ่มเททั้งชีวิตด้วยความรอบคอบ
อนุชนต้องแหงนหน้าขึ้นมอง ผลงานที่เปี่ยมด้วยความดีที่โลกจารึก”

นั่นหมายถึง ตลอดทั้งชีวิตของขงเบ้งเมื่อทำการใด ก็จะระมัดระวังใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นบุคลิกอันโดดเด่นของขงเบ้ง และด้วยความทุ่มเททั้งสติปัญญาและกำลังความสามารถจนมิคิดชีวิต ทำให้ผลงานของขงเบ้งเป็นที่ประจักษ์ตกทอดจากอดีตมาถึงปัจจุบันและคงอยู่ตลอดไป

***********************

ภายในศาลมีรูปปั้นของขงเบ้งประดิษฐานอยู่กลาง สองข้างเป็นขุนพลเอกคู่ใจในการออกศึกกิสานของขงเบ้ง คือ กวนหิน เตียวเปา อองเป๋ง (หวังผิง 王平) และเลียวฮัว (เหลียวฮว่า廖化) ยืนสวมชุดแม่ทัพอย่างทระนงองอาจคอยรับคำบัญชาจากมหาอุปราช สองฝั่งศาลขงเบ้งเป็นศาลขนาดเล็กด้านซ้ายประดิษฐานรูปปั้นของเกียงอุย ด้านขวาเป็นรูปปั้นอียวหงี

ด้านหน้าศาลขงเบ้งมี ศาลาแปดทิศ 八卦亭 ปา-กว้าถิง มีรูปทรงหลังคาแปดเหลี่ยม แทนสัญลักษณ์ของปา-กว้า ที่ต่อมาขงเบ้งได้ปรับมาใช้เป็นค่ายพลพยุหะแปดทิศ หนึ่งในผลงานอันขึ้นชื่อของพญามังกรแห่งโงลังกั๋ง

ด้านหลังของศาล เป็นที่ตั้งของ สุสานฝังหมวกและเสื้อของขงเบ้ง เรียกว่า จูเก๋อเลี่ยงอีก้วนจ่ง 诸葛亮衣冠冢 สร้างขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยสามก๊ก กล่าวคือ เมื่อขงเบ้งสิ้นบุญที่อู่จั้งหยวนแล้ว ทัพจ๊กก๊กได้นำหมวกและชุดของท่านมาฝังไว้ที่เนินดินแห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่วายชนม์ของมหาอุปราช ส่วนร่างที่ไร้วิญญาณของขงเบ้ง ได้ถูกนำไปฝังไว้ที่เชิงเขาเตงกุนสันตามคำสั่งเสียของท่าน

สุสานแห่งนี้นับเป็นหนึ่งในสองสุสานของมหาอุปราชแห่งจ๊กก๊ก เป็นสุสานเนินดินขนาดย่อม ที่ได้รับการบูรณะในสมัยจักรพรรดิเจียจิ้งแห่งราชวงศ์หมิง ตั้งอยู่บนเนินที่มีบันไดเดินขึ้นไป ๔ ขั้น ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาขาว มีเสา ๒๘ ต้น เปรียบดั่งช่วงระยะเวลาที่ท่านได้ลงมาจากเขาโงลังกั๋งเป็นกุนซือให้เล่าปี่จนสามารถตั้งตัวได้ที่เซงโต๋ ก่อร่างสร้างอาณาจักรจ๊กก๊กขึ้นสำเร็จ เป็นหนึ่งในกระถางสามขาของแผ่นดินจีน หลังสิ้นยุคพระเจ้าเล่าปี่ ขงเบ้งได้ออกศึกสร้างความสงบให้แดนใต้ แล้วขึ้นเหนือบุกกิสานรวม ๖ ครั้ง จนมาล้มป่วยและถึงแก่อาสัญลง ณ สถานที่แห่งนี้ ในวันที่ ๘ เดือนตุลาคม ปีค.ศ.๒๓๔ รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๘ ปี (ปีค.ศ.๒๐๗-๒๓๔)

>>ขอคารวะท่านขงเบ้ง-จูเก๋อเลี่ยง ด้วยหัวใจอย่างสุดซึ้ง<<

ขอบคุณรูปภาพและบทความจากคุณ Pariwat Chanthorn ที่อนุญาตให้นำมาแชร์ความรู้ให้เราอ่านกัน

แสดงความเห็นได้ที่
Share Button
Previous post
โคยนต์ม้ากล
Next post
เล่าปี่สิ้นใจที่เป๊กเต้เสียเมืองจักรพรรดิขาว

No Comment

Leave a reply