Homeสามก๊กหนังสือสามก๊กสามก๊กฉบับนายทุน

สามก๊กฉบับนายทุน

สามก๊กฉบับนายทุน

สามก๊กฉบับนายทุน
ผู้แต่ง – ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ลักษณะการเขียน – เขียนเล่าถึงตัวละคร โจโฉและเบ้งเฮ้ก ในเชิงเปรียบเทียบการเมืองไทยกับตัวละครทั้งสองในมุมมองที่แตกต่างไป

เป็นสามก๊กฉบับเล่าเรื่องราวเฉพาะเหตุการณ์และตัวละครสองคนคือโจโฉและเบ้งเฮ้ก ซึ่งเขียนโดย มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองและนักเขียนคนสำคัญในเมืองไทย ได้นำตัวละครโจโฉและเบ้งเฮ้กซึ่งอยู่คนละฝ่ายกับเล่าปี่และขงเบ้งที่เป็นพระเอกในนิยายสามก๊ก โดยหยิบมาเล่าเขียนด้วยมุมมองว่าโจโฉเป็นฝ่ายพระเอกและฝ่ายรัฐบาลที่ถูกต้อง มีการแทรกความคิดเห็นในเชิงเปรียบเทียบสามก๊กกับการเมืองไทยตลอดทั้งเล่ม

ในปีพ.ศ.2490-93 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักการเมืองคู่แข่งของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงย่อมมีความรู้และเชี่ยวชาญในแวดวงการเมืองไทยอย่างมาก สาเหตุของการเขียนสามก๊กฉบับนายทุนนั้น นายสละ ลิขิตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งเป็นดั่งเพื่อนสนิทของมรว.คึกฤทธิ์ ได้เล่าถึงที่มาของสามก๊กฉบับนายทุนไว้ในหนังสือต้นกำเนิดสยามรัฐว่าเกิดขึ้นในวงเหล้า และมรว.คึกฤทธิ์ได้สั่งเหล้าเอามาทาแขนกันแมลง พร้อมทั้งบอกว่าลองสั่งอาหารทานแบบนายทุนดูไหม จากนั้นจึงสั่งอาหารจำนวนมากมาชิมบ้าง ดมบ้าง เมื่อเสร็จแล้ว จึงบอกว่าจะเขียนหนังสือแบบนายทุนให้ และกลายเป็นที่มาของชื่อหนังสือชุดนี้

ข้อเด่นของสามก๊กฉบับนายทุนคือ การริเริ่มเขียนถึงตัวละครและเหตุการณ์ในสามก๊กด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไปจากฉบับมาตรฐานเดิมที่ไม่เคยมีใครเขียนถึงมาก่อน ในเรื่องสามก๊กฉบับหลอก้วนจงนั้น เล่าปี่และขงเบ้งถือเป็นฝ่ายพระเอกที่ถูกยกย่องในฐานะผู้ที่คิดฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นและต่อสู้กับฝ่ายโจโฉซึ่งถูกตราให้เป็นผู้ร้ายที่ทำการข่มขี่ฮ่องเต้และใช้อำนาจบัญชาเหล่าขุนศึก มุมมองเดิมของเรื่องสามก๊กเป็นเช่นนี้ แต่มรว.คึกฤทธิ์ ได้เขียนในมุมมองที่ว่า “เรื่องสามก๊กนั้นแม้จะแต่งดี แต่ผู้แต่งเป็นฝ่ายเล่าปี่ ในขณะที่โจโฉถูกตราหน้าให้เป็นฝ่ายผู้ร้าย ดังนั้นถ้าลองกลับกัน หากผู้แต่งเป็นฝ่ายโจโฉ ก็อาจดำเนินความในเรื่องสามก๊กให้ผู้อ่านเข้าใจกลับกันได้ว่า โจโฉเป็นผู้ทำนุบำรุงแผ่นดิน เป็นผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือฮ่องเต้และฟื้นฟูบ้านเมืองเอาไว้แทน ในขณะที่เล่าปี่เป็นฝ่ายที่คิดก่อความวุ่นวายและโจมตีรัฐบาลกลาง”  ส่วนสำนวนภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย เข้าใจว่าอาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากสามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบซึ่งเขียนขึ้นก่อนหน้านี้อยู่บ้าง

สามก๊กฉบับนายทุนตอนโจโฉนายกฯตลอดกาลได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ชัยฤทธิ์ ในปีพ.ศ.2492 ส่วนตอนเบ้งเฮ้กผู้ถูกกลืนกินทั้งเป็นถูกตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์รัชดารมภ์ ในปีพ.ศ.2492 ปัจจุบันทั้งสองเล่มได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 12 ครั้ง โดยหลายสำนักพิมพ์ ครั้งล่าสุดที่สืบค้นพบคือสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ในปีพ.ศ.2552

ขอบคุณบทความจาก อินทรีสามก๊ก แห่ง pantip.com

แสดงความเห็นได้ที่
Share Button
Previous post
สามก๊กฉบับคนขายชาติ
Next post
สามก๊กฉบับคนเดินดิน

No Comment

Leave a reply