ประวัติจูล่ง

จูล่ง

จูล่ง (จีนตัวเต็ม: 子龍; จีนตัวย่อ: 子龙; พินอิน: Zǐlóng) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก ที่มีตัวตนจริง ชื่อจริงว่า เตียวหยุน (จีนตัวเต็ม: 趙雲; จีนตัวย่อ: 赵云; พินอิน: Zhào Yún) แม่ทัพคนสำคัญของเล่าปี่ และเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือ

จูล่ง ได้รับฉายาว่าเป็น “สุภาพบุรุษจากเสียงสาน” เกิดในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 2 ประมาณปี ค.ศ. 161[1] ที่อำเภอเจินติ้ง เมืองเสียงสาน มีแซ่เตียว (จ้าว) ชื่อ หยุน (แปลว่าเมฆ) ชื่อรอง จูล่ง หรือ จื่อหลง (แปลว่าบุตรมังกร) สูงประมาณ 6 ศอก (1.89 เมตร) หน้าผากกว้างดั่งเสือ ตาโต คิ้วดก กรามใหญ่กว้างบ่งบอกถึงนิสัยซื่อสัตย์ สุภาพเรียบร้อย น้ำใจกล้าหาญ สวมเกราะสีขาว ใช้ทวนยาวเป็นอาวุธ พาหนะคู่ใจ คือ ม้าสีขาว

จูล่งเดิมเดิมเป็นชาวเมืองเสียงสาน ต่อมาได้มาเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่อ้วนเสี้ยวหยาบช้า ไร้น้ำใจ จูล่งจึงหนีไปอยู่กับกองซุนจ้านเจ้าเมืองปักเป๋ง โดยที่ขณะนั้นกองซุนจ้านได้ทำศึกกับอ้วนเสี้ยว จูล่งยังได้ช่วยชีวิตกองซุนจ้านไว้แล้วสู้กับบุนทิวถึง 60 เพลง จนบุนทิวหนีไป ต่อมาจูล่งได้มีโอกาสรู้จักกับเล่าปี่ ทั้งสองต่างเลื่อมใสซึ่งกันและกัน เมื่อกองซุนจ้านฆ่าตัวตายเพราะแพ้อ้วนเสี้ยว จูล่งจึงได้ร่อนเร่พเนจรจนมาถึงเขาโงจิวสัน ซึ่งมีโจรป่ากลุ่มหนึ่งมีหุยง่วนเสียวเป็นหัวหน้า หุยง่วนเสียวคิดชิงม้าจากจูล่ง จูล่งจึงฆ่าหุยง่วนเสียวตายแล้วได้เป็นหัวหน้าโจรป่าแทน ต่อมากวนอูได้ใช้ให้จิวฉองมาตามหุยง่วนเสียวและโจรป่าไปช่วยรบ จิวฉองเมื่อเห็นจูล่งคุมโจรป่าจึงคิดว่าจูล่งคิดร้ายฆ่าหุยง่วนเสียว จิวฉองจึงตะบันม้าเข้ารบกับจูล่ง ปรากฏว่าจิวฉองต้องกลับไปหากวนอูในสภาพเลือดโทรมกาย ถูกแทงถึง 3 แผล (สำนวนสามก๊กฉบับวณิพกของ ยาขอบ) จิวฉองเล่าว่าคนผู้นี้มีฝีมือระดับลิโป้ ดังนั้นกวนอูกับเล่าปี่จึงต้องรุดไปดูด้วยตนเอง แต่เมื่อได้พบกันจูล่งก็เล่าความจริงทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาจูล่งก็ได้เป็นทหารเอกของเล่าปี่เคยรบชนะม้าเฉียวในการประลองตัวๆและยังเคยทะเลาะกับเตียวหุยตอนอยู่กับกองซุนจ้านจนเกือบสังหารเตียวหุยแต่กวนอูมาขวางไว้

ในปี พ.ศ. 751 จูล่งสร้างวีรกรรมครั้งสำคัญคือ ฝ่าทัพรับอาเต๊า บุตรชายของเล่าปี่ที่เกิดจากนางกำฮูหยิน ซึ่งพลัดหลงกับเล่าปี่ที่ทุ่งเตียงบันโบ๋ จูล่งทำการครั้งนี้เพียงคนเดียว ท่ามกลางทหารและองครักษ์มากมายของโจโฉที่ยกทัพลงทางใต้หวังรวบรวมแผ่นดิน และได้ฆ่าทหารเอกและทหารเลว ของโจโฉมากมาย ตั้งแต่ 03.00 น. จนถึง 15.00 น. ของอีกวัน จนโจโฉ ถึงกับถามชื่อขุนพลผู้นี้ ซึ่งจูล่งได้ตอบโจโฉว่า “ข้าชื่อจูล่ง แห่งเสียงสาน” โจโฉประทับใจในความกล้าหาญของจูล่ง จึงสั่งไม่ให้ใช้เกาทัณฑ์ยิง ทำให้จูล่งสามารถอุ้มเอาอาเต๊าหนีกลับมาหาเล่าปี่ได้และครั้งหนึ่งจูล่งได้ไปชิงตัวอาเต๊าคืนมาจากซุนฮูหยิน ที่ต้องกลของซุนกวนที่หวังจะดึงไปเป็นตัวประกันที่ง่อก๊ก

ภายหลังเมื่อจูล่งติดตามเล่าปี่เข้าเสฉวนและรับตำแหน่งแม่ทัพร่วมกับฮองตงไปทำศึกชิงเขาเตงกุนสันที่ฮันต๋ง จูล่งก็สร้างวีรกรรมสำคัญช่วยเหลือฮองตงซึ่งกำลังเสียทีตกอยู่ในวงล้อมกองทัพของโจโฉและตีฝ่าออกมาได้ เมื่อโจโฉนำทัพไล่ตามไป จูล่งก็นำทหารเข้าไปในค่ายและตนเองแต่ผู้เดียวออกมาขี่ม้าถือทวนอยู่หน้าค่าย โจโฉเกิดความระแวง จูล่งจึงอาศัยโอกาสนั้นให้ทหารที่ซุ่มอยู่เข้าตีทั้งสองด้านไล่ทัพโจโฉจนต้องถอยร่นไป เมื่อเล่าปี่มาตรวจค่ายที่จูล่งทำศึกก็ออกปากยกย่องจูล่งว่า มีดีไปทั้งตัว ซึ่งหมายถึงมีความกล้าหาญไปทั่วทั้งตัว

จูล่งเป็นผู้ที่ติดตามเล่าปี่ตลอด แม้จะไม่ได้สาบานเป็นพี่น้องกันเหมือน กวนอูและเตียวหุย แต่จูล่งก็เรียกกวนอูและเตียวหุยว่า “พี่สองและพี่สาม” แต่กับเล่าปี่ จูล่งจะเรียกว่า “นายท่าน” เมื่อครั้งเล่าปี่ต้องการแก้แค้นให้กวนอูและเตียวหุยซึ่งถูกง่อก๊กสังหาร จูล่งเป็นผู้ที่คัดค้านและแนะนำว่าเล่าปี่ควรเห็นละความแค้นส่วนตัว และปราบวุยก๊กของโจผี ซึ่งเป็นผู้ที่ประชาชนมองว่าเป็นศัตรูแผ่นดินตัวจริง แต่เล่าปี่ไม่ฟัง เมื่อเล่าปี่นำกองทัพไปพ่ายแพ้ที่อิเหลง จูล่งซึ่งเป็นทัพหลังและเตรียมพร้อมไว้ก่อนจึงพาเล่าปี่หนีกลับมาพำนักที่เมืองเป๊กเต้เสีย เมื่อก่อนเล่าปี่จะสิ้นใจได้เรียก ขงเบ้งเข้าพบ และเรียกจูล่ง ตรัสด้วยคำพูดว่า ” ท่านกับเรานั้นเป็นเพื่อนต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา แต่มาบัดนี้ ชะตากรรมกำลังพรากเราสอง ขอให้ท่านนึกถึงนำใจเก่าก่อนช่วยเหลือบุตรเราและท่านขงเบ้ง ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นอัญเชิญราชวงศ์ฮั่นกลับสู่ราชธานีลกเอี๋ยงด้วย ”

หลังจากที่เล่าปี่เสียชีวิตลง จูล่งเป็นทหารสังกัดของขงเบ้ง เมื่อยามศึกยังสู้แม้ตัวเองแก่แล้ว มีครั้งหนึ่ง ก่อนรบศึกกับฝ่ายวุยก็ก ช่วงนั้นขงเบ้งเลือกทหารให้ไปรบ แต่กลับไม่เลือกจูล่ง เพราะขงเบ้งว่าจูล่งแก่แล้ว แต่จูล่งกลับแย้งขี้นมา และได้เป็นทัพหน้าสมใจ แม้ในวัยชราแล้วก็ยังสามารถนำทหารเข้าต่อสู้และเอาชัยเหนือแม่ทัพหนุ่มๆของข้าศึกได้ จูล่งเสียชีวิตอย่างสงบในเมืองฮั่นจง เมื่อปี พ.ศ. 772 หลังจากที่จูล่งตาย ขงเบ้งได้รำพันออกมาว่า “แขนซ้ายข้าขาดแล้ว” และเป็นลมสิ้นสติไปด้วยความเสียใจ

จูล่ง ถือได้ว่าเป็นตัวละครที่ผู้อ่านสามก๊กโดยส่วนมาก โปรดปราน ชื่นชมมากที่สุดในบรรดาตัวละครทั้งหมดในเรื่อง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีรูปลักษณ์การแต่งกายสง่างาม ฝีมือสัประยุทธ์เป็นเลิศ และมีความซื่อสัตย์ ทำการโดยไม่เห็นแก่ลาภยศ พร้อมมีสติปัญญาเป็นเยี่ยม

แสดงความเห็นได้ที่
Share Button
Previous post
ประวัติเตียวหุย
Next post
ประวัติขงเบ้ง